วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข่าวสารประจำสัปดาห์ที่5

วราภรณ์ แดงช่วง

บทความนี้เป็นทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนจากประสบการณ์ของบรรณารักษ์งานวารสาร ผู้เขียนคาดหวังเพียงเพื่อ เปิดความคิดเห็นแก่ผู้ใช้บริการวารสารภาษาต่างประเทศของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรณีที่ท่านผู้อ่านมีทัศนะเป็นอื่น ย่อมเป็นการดียิ่งที่จะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อการพัฒนางานร่วมกันต่อไป พัฒนาการของรูปแบบวารสาร

วารสารเป็นสารนิเทศที่สำคัญของห้องสมุด เพราะเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ ความคิด เสนอความเคลื่อนไหวและพัฒนาการของวิทยาการสาขาต่างๆ ที่ได้จากการค้นคว้า วิจัย รวมทั้งให้ข้อมูลสถิติ ประกาศ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลผลิตและบริการ วารสารเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีการจัดพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถนำเสนอเรื่องราวความก้าวหน้าต่างๆได้อย่างรวดเร็วกว่าหนังสือ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ ดังนั้น สารนิเทศจากวารสารจึงมีความทันสมัยกว่าสารนิเทศจากแหล่งอื่น (Osborn, 1980)

เนื่องจากความสำคัญดังกล่าวทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆผลิตวารสารออกมาในหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์ รูปแบบวัสดุย่อส่วน รูปแบบฐานข้อมูลซีดี-รอม และรูปแบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์ บรรณารักษ์จึงต้องศึกษารูปแบบต่างๆของวารสารและจัดหาให้เหมาะสมกับผู้ใช้ ซึ่ง แต่ละรูปแบบก็มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ดังนี้

1. วารสารในรูปแบบสิ่งพิมพ์

2. วารสารในรูปแบบวัสดุย่อส่วน

3. วารสารในรูปแบบฐานข้อมูลซีดี - รอม

4. วารสารในรูปแบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์

1. วารสารในรูปแบบสิ่งพิมพ์ เป็นรูปแบบดั้งเดิมในการผลิตวารสารที่ผู้ใช้คุ้นเคย สามารถเข้าถึงวารสารได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอ่าน สามารถพลิกอ่านบทความได้ทั้งเล่ม หยิบใช้สะดวก สามารถดึงดูดความสนใจในการอ่าน เพราะมองเห็นรูปเล่มที่สวยงามได้

ข้อจำกัดของวารสารในรูปแบบสิ่งพิมพ์ คือต้องเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับรองรับการขยายตัวเล่มวารสารตลอดเวลา ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตัวเล่มวารสารเพราะคุณภาพของกระดาษไม่ถาวร และต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับการเย็บเล่มวารสาร

2. วารสารในรูปแบบวัสดุย่อส่วน วัสดุย่อส่วน หรือ Microforms คือวัสดุย่อส่วนจากเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆลงบนแผ่นฟิล์มหรือบัตร มีผู้เรียกว่า จุลรูป หรือจุลภาพ มีทั้งทึบแสงและโปร่งแสง การอ่านข้อความจากไมโครฟอร์มต้องอ่านด้วยเครื่องอ่านโดยเฉพาะ (กล่อมจิตต์ พลายเวช 2524 : 66) มีสำนักพิมพ์หลายแห่งที่ผลิตข่าวสารในรูปของการย่อส่วน เช่นไมโครฟิล์ม และห้องสมุดเองก็ได้แปลงรูปข้อมูลข่าวสารจากหนังสือเล่ม ของห้องสมุดไปเป็นรูปย่อส่วน เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ การดำเนินงาน และการประหยัดพื้นที่ ข่าวสารที่ถูกย่อส่วนแสดงให้เห็นถึงยุคใหม่ของการผลิต และการเก็บข่าวสารที่กำลังเปลี่ยนรูปไป (ประภาวดี สืบสนธ์ 2524 : 34) วัสดุย่อส่วนที่นิยมนำมาใช้ในงานห้องสมุด คือ ไมโครฟิช ไมโครฟิล์ม และไมโครแจ็กเก็ต

ข้อดีอย่างเด่นชัดของวารสารในรูปแบบนี้ คือ การประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บเพราะสามารถประหยัดพื้นที่จัดเก็บได้ถึงร้อยละ 85 เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดเก็บในรูปแบบสิ่งพิมพ์ (Tribit : 1988) ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเย็บเล่มวารสาร อาคารไม่ต้องรับน้ำหนักมาก และสามารถแก้ปัญหาวารสารถูกฉีกขาดและเสื่อมสภาพ

ข้อจำกัดของวารสารในรูปแบบนี้ คือ ความไม่สะดวกในการใช้บริการ เพราะต้องใช้เครื่องอ่านและทำสำเนา รวมทั้งการทำสำเนาจากวัสดุย่อส่วนมีความยุ่งยากและมีราคาแพงกว่าสิ่งพิมพ์

3. วารสารในรูปแบบฐานข้อมูลซีดี-รอม ซีดี-รอม ย่อมาจาก Compact Disc- Read Only Memory หรือ CD-ROM เป็นสื่อประเภทหนึ่งในเทคโนโลยีออฟติคัล (Optical) ซึ่งใช้แสงเลเซอร์เป็นเครื่องมือในการบันทึกและอ่านข้อมูลทางบรรณานุกรม ข้อมูลเนื้อหาเต็มรูป ข้อมูลภาพ ข้อมูลตัวเลข และกราฟฟิก ซีดี-รอมเป็นคุณสมบัติเป็นสื่อที่จัดเก็บข้อมูลเพื่อการอ่านเพียงอย่างเดียว สามารถบันทึกข้อมูลได้สูงถึง 1,000 ล้านตัวอักษรต่อแผ่น หรือเท่ากับแผ่นดิสก์1,500 แผ่น หรือ ประมาณ 275,000 หน้ากระดาษ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.72 นิ้ว หรือ12 เซนติเมตร (Zink 1990 : 51)

ข้อดีของฐานข้อมูลซีดี-รอม คือ สามารถบันทึกสารนิเทศได้หลายรูปแบบ เช่น ตัวอักษร กราฟฟิก ภาพ เสียง และเมื่อบันทึกแล้วไม่สามารถลบออกได้ เก็บรักษาง่าย ไม่ ต้องควบคุมอุณหภูมิ มีคุณสมบัติทนทานไม่แตกหักง่าย มีน้ำหนักเบา สามารถพกพาได้สะดวก มีประสิทธิภาพในการสืบค้นได้สะดวกรวดเร็วกว่าวัสดุย่อส่วน ตลอดจนสามารถค้นหาสารนิเทศได้หลายสาขาวิชา และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม

ข้อจำกัดของของฐานข้อมูลซีดี-รอม คือ ค่าบอกรับฐานข้อมูลซีดี-รอมมีราคาสูงมาก การใช้งานต้องใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์และต้องมีเครื่องอ่านซีดี-รอม การใช้บริการเป็นการสื่อสารทางเดียวของผู้ใช้ไม่สามารถเพิ่มเติมแก้ไขข้อมูลใหม่ได้ การปรับปรุงฐานข้อมูลซีดี-รอมล่าช้าจึงทำให้ฐานข้อมูลสารนิเทศต่างๆไม่ทันสมัยเท่ากับการค้นคืนด้วยระบบออนไลน์ (อุทัย ทุติยะโพธิ 2537 : 24)

4. วารสารในรูปแบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์ คือ วารสารทางวิชาการที่ผลิตและเผยแพร่สู่ผู้ใช้โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นวารสารที่ห้องสมุดบอกรับโดยเสียค่าบริการเพื่อให้ผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสารนิเทศได้รวดเร็วในเวลาเดียวกันหลายคน โดยไม่จำกัดเวลา และสถานที่ สามารถจัดหาได้เมื่อต้องการ ( Acquisition on Demand) และมีบริการจัดส่งบทความ (Document Delivery) เมื่อมีผู้ต้องการสั่งซื้อทาง E - mail หรือ Fax หรืออื่นๆได้ตามต้องการ วารสาอิเล็กทรอนิกส์เป็นพัฒนาการของวารสารที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน

ข้อดีของวารสารอิเล็กทรอนิกส์

1. ผู้ใช้สามารถติดตามอ่านวารสารได้อย่างรวดเร็ว ทันทีที่วารสารมีการจัดพิมพ์ เนื่องจากสำนักพิมพ์จัดพิมพ์แบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้เผยแพร่สู่ผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว

2. ผู้อ่านสามารถเข้าถึงวารสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยไม่จำกัดเวลา โอกาส และ สถานที่

3. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเย็บเล่มวารสาร การเสียแรงงานบุคลากรในการเตรียมวารสารก่อนส่งเย็บเล่มและหลังการเย็บเล่ม

4. ช่วยแก้ปัญหาการได้รับวารสารไม่ครบ วารสารถูกฉีกขาด

5. ช่วยแก้ปัญหาสถานที่เก็บ ไม่มีปัญหาการเพิ่มน้ำหนักพื้นที่ของห้องสมุด

ข้อจำกัดของวารสารอิเล็กทรอนิกส์

1. ค่าใช้จ่ายในการบอกรับ แต่ละสำนักพิมพ์จะกำหนดค่าบอกรับแตกต่างกัน เช่น บางสำนักพิมพ์เมื่อบอกรับวารสารฉบับพิมพ์จะให้สิทธิ์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ บางสำนักพิมพ์แยกราคากันระหว่างฉบับพิมพ์กับวารสารอิเล็กทรอนิกส์

2. ลิขสิทธิ์ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ชัดเจนเช่นกฎหมายลิขสิทธิ์ของสิ่งพิมพ์

3. วารสารย้อนหลัง การจัดเก็บวารสารอิเล็กทรอนิกส์ฉบับย้อนหลังยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ห้องสมุดที่บอกรับหารูปแบบ วิธีการจัดเก็บเอง หรือบริษัทเป็นผู้จัดทำ

4. การเข้าถึงวารสารอิเล็กทรอนิกส็ ปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็คือ ความล่าช้าของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ บรรณารักษ์และผู้ใช้ขาดความเข้าใจในวิธีการสืบค้นข้อมูล ตลอดจนปัญหาของข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน

King (1991 : 5-6) กล่าวว่า ประมาณปี 2006 จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากในการสืบค้นข้อมูล ตลอดจนการนำส่งข้อมูลเข้าห้องสมุด ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ยังคงมีใช้อยู่ แต่จะมีบทบาทที่แตกต่างไป โดยความคิดนี้ตรงกับความเห็นของ McKnight (1993 : 9) และ Piternick (1989 b : 96) ที่กล่าวว่า วารสารในรูปแบบสิ่งพิมพ์จะมีการใช้ต่อไป ในขณะที่การใช้วารสารอิเล็กทรอนิคส์จะเป็นเสมือนเส้นขนานมากกว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่ นักวิชาการและนักวิจัยจะใช้เวลาเล็กน้อยในห้องสมุด เพราะสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากคอมพิวเตอร์ หรือจาก Workstation จากที่ห่างไกลได้

การดำเนินงานวารสารของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดหาวารสารภาษาต่างประเทศเพื่อให้บริการตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มี จำนวนรายการบอกรับส่วนใหญ่เป็นการรับต่อเนื่อง ในปี ค.ศ.1999 ได้มีการสำรวจความต้องการวารสารหลัก (Core Journal) ของอาจารย์ทุกท่านในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงทำให้มีการบอกรับรายการวารสารเพิ่มจากเดิมจำนวน 88 รายการ ในปี ค.ศ. 2000 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สำนักหอสมุดจะพยายามจัดหาวารสารให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการดำเนินงานวารสาร คือ

1. สถานที่จัดเก็บ บริเวณที่ให้บริการวารสาร อยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารสำนักหอสมุด มีพื้นที่ 1185.84 ตารางเมตร (สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : 2542) แบ่งเป็น 2 ปีก คือ ปีกวารสารฉบับปีปัจจุบัน และปีกวารสารฉบับย้อนหลัง โดยบริเวณดังกล่าว ใช้บริการตั้งแต่ปี 2523 โดยไม่สามารถขยายเนื้อที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนวารสารมีการเพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับในปี 2539 เนื้อที่ด้านปีกวารสารฉบับย้อนหลังจำนวน 317.52 ตารางเมตร ได้ถูกแบ่งพื้นที่จำนวน 55.08 ตารางเมตร (สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : 2542) เพื่อกั้นเป็นห้องทำงานของบุคลากร จึงทำให้เนื้อที่จัดเก็บวารสารจำกัดมากยิ่งขึ้น พื้นที่ในการขยายวารสารเย็บเล่มเริ่มมีปัญหา ดังนั้นการบอกรับวารสารในปี 2000 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้มีผลโดยตรงต่อการขยายชั้น และเป็นปัญหาที่ไม่มีจุดจบ แม้จะได้อาคารใหม่ก็ตาม

2. ความไม่สะดวกในการใช้บริการวารสาร เนื่องจากในเดือน มิถุนายน 2541 ฝ่ายวารสาร ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ยืมวารสารออกนอกห้องสมุด อนุญาตให้เพียงถ่ายเอกสารภายในห้องสมุดเท่านั้น ทำให้การใช้บริการวารสารมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น

3. การให้บริการวารสารฉบับพิมพ์ อาจเกิดปัญหาในแง่ของ ความต้องการข้อมูลตรงกัน ต้องรอผู้อื่นที่กำลังใช้ใช้ให้เสร็จก่อน

4. ระบบการสืบค้นวารสารค่อนข้างซับซ้อน การเข้าถึงบทความค่อนข้างยาก และไม่ครอบคลุม

5. การให้บริการวารสารฉบับพิมพ์ ในกรณีที่ส่งไปเย็บเล่ม / ไม่มีวารสารรายการดังกล่าวในห้องสมุดอื่นๆในเมืองไทย ทำให้ผู้ใช้ต้องเสียโอกาส หรือต้องรอเป็นเวลานานและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการขอถ่ายสำเนาจากต่างประเทศ

6. ในกรณีที่วารสารเย็บเล่มหนา การถ่ายสำเนาข้อความส่วนที่ใกล้สันวารสาร มักจะทำได้ไม่ชัดเจน

7. ค่าใช้จ่ายในการเย็บเล่มวารสาร วารสารวิชาการส่วนใหญ่เมื่อจัดพิมพ์ครบปีที่ (Volume) จะนำไปเย็บเล่มรวม เพื่อช่วยให้วารสารมีความคงทนต่อการใช้งาน ช่วยรักษาตัวเล่มไม่ให้ถูกฉีกขาด มีความเป็นระเบียบและ เพื่อป้องกันตัวเล่มกระจัดกระจาย สูญหาย ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ประมาณปีละ 60,000 บาท (สถิติการเย็บเล่ม ปี 2540 - 2542) ซึ่งเมื่อนำมารวมกับค่าบอกรับจะเห็นว่าวารสารเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น

บทสรุปและแนวคิด

จากสาเหตุดังกล่าว ประกอบกับในสภาพแวดล้อมเช่นปัจจุบัน แนวโน้มของห้องสมุดคงต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงในโลกของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก จากพัฒนาการของรูปแบบในการผลิตวารสาร โดยเฉพาะในการนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ซึ่งช่วยเพิ่มประ สิทธิภาพในการเข้าถึงและสืบค้นข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งช่วยประหยัดเนื้อที่ มีราคาถูกกว่าฉบับพิมพ์ สะดวกทั้งเวลาและโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ฯลฯ แต่สิ่งที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ควรคำนึงถึงทัศนคติและความต้องการของผู้ใช้ที่มีต่อสื่ออิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เพราะคงต้องยอมรับว่า ผู้ใช้ห้องสมุดยังนิยมอ่านวารสารฉบับพิมพ์มากกว่าในรูปแบบอื่น บรรณารักษ์ควรจะคำนึงถึงจุดนี้ โดยจะต้องพยายามมุ่งความสนใจไปที่เนื้อหาของข้อมูลมากกว่ารูปแบบของข้อมูล

การเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตาม ห้องสมุดควรจะต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างดียิ่ง ระหว่าง ผู้บริหารห้องสมุด บรรณารักษ์ บริษัทผู้จำหน่ายวารสาร และผู้ใช้ห้องสมุด เพื่อศึกษาถึงการจัดหาวารสารในรูปแบบที่เหมาะสม สำหรับห้องสมุดในยุคที่สื่ออิเล็กทรอนิกส์มีอิทธิพลสำคัญยิ่งใน ปัจจุบัน การศึกษาดังกล่าวย่อมจะเป็นประโยชน์ เพื่อใช้เป็นเหตุผลประกอบวิจารณญาณ ในการจัดหาวารสารที่เหมาะสม ช่วยให้บรรณารักษ์สามารถวางนโยบายการจัดหาวารสาร และการให้บริการวาร สารได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งห้องสมุดสามารถใช้ประโยชน์ของการศึกษาดังกล่าว ในการเป็นผู้นำในการพัฒนาทรัพยากรห้องสมุดในรูปแบบที่เหมาะสม ทันสมัยและคุ้มค่าที่สุด

บรรณานุกรม
กล่อมจิตต์ พลายเวช. " การเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด " วารสารบรรณารักษศาสตร์ 1 (มกราคม 2524) : 66.
ประภาวดี สืบสนธ์. " ลักษณะห้องสมุดยุคใหม่ " วารสารบรรณารักษศาสตร์ 1 (มกราคม 2524) : 24.
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ข้อมูลสำรวจอาคารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ : 2542.
อุทัย ทุติยะโพธิ. " ฐานข้อมูลสำเร็จรูป ซีดี - รอม ที่มีใช้ในประเทศไทย " โดมทัศน์ 15, 2 ( กรกฎาคม - ธันวาคม 2537) : 21 - 62.
King, T.B. " The Impact of Electronic and Networking Technologies on the Delivery of

Scholarly Information. " The Serials Librarian 21 (1991) : 5 - 13.

McKnight, Cliff. " Electronic Journals Past, Present and Future? " Aslib Proceeding 45

(January 1993) : 7 - 10.
Osborn, Andrew Delbridge. Serial Publication ; Their Place and Treatment in Libraries.

3 rd ed. Chicago : American Library Association, 1980.
Piternick, A.B. " Serials and New Technology : The State of the Electronic Journal "

Canadian Library Journal 46 (April 1989 b) : 93 - 97.
Tribit, Donald K. Periodicals Management in McCabe, Gerald B. (ed.) , The Small Academic Library :

A Managemrnt Handbook, pp. 91. USA : Greenween Press, 1988.
Zink, Steven D. Planning for the Perils of CD-ROM. Library Journal 115 (February 1, 1990) : 51 - 55.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น